Last updated: 11 มี.ค. 2565 | 12283 จำนวนผู้เข้าชม |
8 ข้อสงสัยเรื่องนมแม่
ยังมีคุณแม่หลายท่านมีความเข้าใจผิดในเรื่องนมแม่ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ท้อได้ ถ้าการให้นมลูกในช่วงแรกๆ ไม่สำเร็จ ครั้งนี้เรามาร่วมกันทำความเข้าใจในบางเรื่องของนมแม่กันดีกว่าค่ะ
1.เช็ดหัวนมบ่อยๆ ดีจริงหรือ
หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า ก่อนและหลังการให้นมลูกทุกครั้งควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดที่หัวนม ซึ่งในข้อนี้เป็นข้อควรปฎิบัติ แต่ก็มีข้อยกเว้น ถ้าคุณแม่อยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปไหน หรือไม่ได้ทำอะไรที่มีเหงื่อออกมาก ก็ไม่จำเป็นต้องเช็ดทุกครั้งที่ให้นมลูกก็ได้ เพราะการเช็ดทุกครั้งจะทำให้หัวนมแห้ง และแตกได้ ข้อนี้คุณแม่จึงควรเป็นผู้พิจารณาเองค่ะ ว่าช่วงไหนควรเช็ด ช่วงไหนไม่ต้องก็ได้
2. ให้ลูกดูดกี่เต้าดี
ในแต่ละครั้งที่ให้ลูกดูดนม ควรให้ดูดเต้าใดเต้าหนึ่งจนหมดเต้า ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเต้าไปมา (นอกจากลูกไม่อิ่มอยากดูดต่อ จึงเปลี่ยนเต้า) มื้อต่อไป จึงจะเปลี่ยนเป็นอีกเต้าหนึ่ง ฉะนั้นคุณแม่ต้องจำเอาไว้ว่าลูกดูดเต้าไหนในมื้อก่อนหน้านี้เพื่อให้หน้าอกมีขนาดเท่ากัน ไม่ใหญ่ข้างใดข้างหนึ่ง การที่ลูกดูดนมถึงท้ายเต้าจะทำให้ลูกได้รับไขมันในน้ำนมอย่างเต็มที่อีกด้วยค่ะ
3. เขี่ยแก้มลูกขณะดูดนม
คุณแม่มักเข้าใจผิด คิดว่าการเขี่ยแก้มลูกขณะดูดนม จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกดูดนมได้ดีขึ้น หรือเป็นการปลุกลูกให้ตื่น ถ้าลูกหลับ จริงๆ แล้วควรเขี่ยริมฝีปากลูกก่อนที่ลูกจะดูดนม เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปากให้กว้างที่สุด จะได้งับหัวนมแม่ลึกจนถึงลานนม แล้วกลไกการดูดนมของลูกก็จะเริ่มขึ้นเอง เมื่อลูกอิ่มเขาจะคลายปากออกเอง การที่คุณแม่ไปเขี่ยแก้มลูกขณะที่ลูกงับหัวนมคุณแม่แล้วนั้นจะทำให้การดูดนมของลูกสะดุด เพราะเมื่อลูกงับหัวนมแม่แล้ว ลิ้นจะรองอยู่ใต้หัวนม ซึ่งดันไปชิดเพดานปาก เหงือกงับที่กระเปาะนม ภายในปากลูกจึงเป็นเสมือนสูญญากาศ แต่ถ้าลูกต้องอ้าปาก ก็ต้องเริ่มกระบวนการดูดใหม่
4.กินนมแม่ แล้วลูกตัวเหลือง
หลายคนประสบกับปัญหาลูกตัวเหลือง โดยหาสาเหตุไม่ได้ อาการต่างๆ ของลูกจะปกติดีทุกอย่างยกเว้นอาการตัวเหลืองของลูก ทำให้คุณแม่หลายท่านมีความกังวล คุณหมออาจจะแนะนำให้หยุดนมแม่ 2 วัน อาการตัวเหลืองของลูกจะดีขึ้น ถ้าสาเหตุจากตัวเหลืองเป็นเพราะนมแม่จริง ในต่างประเทศจะแนะนำให้คุณแม่ให้ลูกดูดนมต่อได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณแม่ไม่สบายใจก็ให้นมผสม 2 วันก่อนก็ได้ค่ะ แต่ต้องให้ลูกกลับมาดูดนมแม่ต่อนะคะ เมื่อเห็นว่าอาการเหลืองของลูกดีขึ้น
5. น้ำนมไม่ไหล - น้อย ลูกไม่อิ่ม
คุณแม่คลอดลูกทุกคนสามารถให้นมลูกได้ และมีน้ำนมมากพอที่จะเลี้ยงลูกได้ ถึงแม้จะมีลูกแฝดก็ตาม ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าตนเองน้ำนมน้อย ต้องย้อนกลับมาดูว่า คุณแม่ให้ลูกดูดนมบ่อย ดูดสม่ำเสมอหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ก็ต้องให้ลูกดูดนมแม่ด้วยเช่นกัน เพราะฮอร์โมนที่สร้างน้ำนมจะมีมากในช่วงกลางคืน บำรุงสุขภาพตนเองโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนม ถ้ารู้สึกเต้านมตึงคัด แต่ลูกยังไม่ดูด ก็ต้องบีบออก ไม่เครียด รับรองน้ำนมคุณแม่มาอย่างมากมายเองค่ะ อีกข้อที่คุณแม่มักตั้งคำถามขึ้นมา เรื่องน้ำนมน้อยเป็นกรรมพันธุ์หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ใช่ค่ะ ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว เตรียมใจ ของคุณแม่มากกว่า
6. ต้องบีบน้ำนมทิ้งก่อนให้นมลูก
ในกรณีที่เต้านมคุณแม่คัดตึงมาก ส่งผลให้ลานนมแข็ง ถ้าให้ลูกดูดทันทีอาจทำให้ลูกงับไปถึงลานหัวนม คุณแม่ต้องบีบน้ำนมทิ้งออกเล็กน้อยเพื่อให้ลานหัวนมนิ่มลงนั่นเอง แต่ไม่ใช่เป็นการล้างท่อน้ำนมอย่างที่ใครหลายๆ คนเข้าใจ
ผิด
7. ห้ามดื่มน้ำเย็นขณะให้นมแม่
จริงๆ แล้วคงไม่ถึงกับห้าม แต่การดื่มน้ำอุ่นช่วยให้น้ำนมคุณแม่ไหลดี แต่ถ้าคุณแม่ร้อนจนทนไม่ไหวจริงๆ การจิบน้ำเย็นเป็นครั้งคราว พอให้ชุ่มคอก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร แต่ก็อยากแนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำอุ่นดีที่สุดค่ะ
8. ให้นมลูกแล้วต่อไป เต้านมจะยานเสียทรง
ขอบอกว่า เรื่องนี้เป็นธรรมชาติค่ะ ถ้าคุณแม่ท่านไหนมีเต้านมใหญ่เป็นทุนเดิม ขณะที่ให้นมลูก เต้านมจะใหญ่ขึ้นอีก แต่เมื่อลูกหย่านมแล้วเต้านมจะมีขนาดเท่าเดิม ในระยะเวลาที่ยังให้นมลูกอยู่นั้น ไม่ว่าเต้านมจะเล็กหรือใหญ่คุณแม่ควรใส่บราเพื่อพยุงน้ำหนักของเต้านมเอาไว้ ก็ช่วยให้เต้านมคุณแม่อยู่ทรงเช่นเดิม
ที่มา : Mother&Care
26 ธ.ค. 2554
22 ก.พ. 2567
3 เม.ย 2567
22 ม.ค. 2567