คุณแม่ควรรู้…..ก่อนป้อนยาลูกน้อย หลอดหยดยา
นิยมใช้ตวงยาในปริมาณน้อยกว่า 1 ซี.ซี. ส่วนใหญ่ใช้กับยาน้ำสำหรับเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี ที่เป็นชนิดเข้มข้น เช่น ยาน้ำพาราเซตามอลชนิดหยด ยาน้ำขับลมสำหรับเด็กชนิดหยด และยาน้ำวิตามินรวมชนิดหยดค่ะ
ข้อดีของหลอดหยดยาคือ
ยาจะออกมาในปริมารณน้อยเป็นหยดๆ เด็กจึงไม่ค่อยสำลัก เหมาะกับเด็กอ่อนที่ยังไม่ค่อยต่อต้านการทานยา กระบอกฉีดยา เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ต่อกับเข็มฉีดยาค่ะ นิยมใช้ตวงยาปริมาณมากกว่า 1 ซี.ซี. แต่ไม่เกิน10 ซีซี. กระบอกฉีดยาขนาด 3 ซี.ซี. และ 5 ซี.ซี. จะเหมาะมือคุณแม่และดูไม่น่ากลัวจนเกินไปสำหรับลูกค่ะ ส่วนใหญ่ใช้กับเด็กเล็กหรือเด็กโต ที่ทานยาครั้งละมากกว่า 1 ซี.ซี.
ข้อดีของกระบอกฉีดยาคือ
ตวงยาได้ละเอียดแม่นยำ ใช้ป้อนยาได้สะดวก ไม่เปรอะเปื้อน หรือหกได้ง่ายเหมือนการใช้ช้อนชา และสามารถดูดยาทิ้งไว้ในกระบอกรอจังหวะการป้อนยาได้ ดีกว่าการใช้หลอดหยดยาที่คุณแม่ต้องบีบปลายจุกยางไว้ตลอดเวลาที่จะป้อน ยา
ช้อนชา เป็นคนละชนิดกับช้อนชงชากาแฟนะคะ ช้อนชาสำหรับตวงยาจะเป็นช้อนพลาสติกด้ามสั้น เพื่อให้คุณแม่จับได้กระชับ หนึ่งช้อนชาเท่ากับ 5 ซี.ซี.ค่ะ ช้อนชาจะมีขีดนูนแสดงปริมาณครึ่งช้อนชาไว้ด้วย เหมาะกับเด็กเล็กและเด็กโตที่ชอบทานอาหารด้วยช้อน
ถ้วยตวงยา มักมีขนาดไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 ซี.ซี. เหมาะกับเด็กโตที่ชอบทานยาจากถ้วย หรือกรณีที่ต้องทานยาในปริมาณมาก
การป้อนยาสำหรับลูกน้อยที่ต่อต้านการทานยา
เด็กเล็กวัย 1-3 ปีค่อนข้างจะต่อต้านการทานยา ไม่ว่ายาจะหอมหวานอย่างไร ลูกก็ไม่ยอมทาน คุณแม่อย่าใจอ่อนยอมตามใจลูกนะคะ ควรยืนยันและอธิบายว่าที่ต้องทานยาเพื่อให้อาการป่วยดีขึ้น คุณแม่อาจเตรียมรางวัลเป็นขนมอร่อยที่ลูกชอบ เพื่อเป็นกำลังใจหลังจากที่ลูกน้อยทานยา แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดยาตวงยาและป้อนยานะคะ ปริมาณยาที่ป้อนแต่ละครั้งไม่ควรมากจนเกินไป ลูกอาจจะสำลักและกลัวไม่ยอมทานยาอีก ปกติควรป้อนครั้งละไม่เกิน 5 ซี.ซี. ทั้งนี้ขึ้นกับวัยของลูกและความร่วมมือในการทานยาค่ะ คุณแม่ควรมีผู้ช่วยป้อนยาถ้าลูกต่อต้านการทานยา ให้คุณพ่อหรือพี่เลี้ยงช่วยอุ้มลูกไว้ในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน ประคองศีรษะไว้ไม่ให้ลูกเบือนหน้าหนีเวลาคุณแม่ป้อนยา เมื่อคุณแม่เตรียมยา น้ำดื่มและรางวัลพร้อมแล้ว พูดคุยหยอกล้อเล็กน้อยให้ลูกคลายกังวล พอได้จังหวะคุณแม่ควรรีบป้อนยาโดยฉีดยาน้ำนั้นเข้าไปในปากด้านข้างตรงกระพุ้งแก้มเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสำลัก ถ้าลูกจะบ้วนยาทิ้ง ให้คุณแม่จับปากลูกปิดไว้สักครู่ เมื่อลูกกลืนยาเรียบร้อยแล้ว รีบป้อนน้ำและจบด้วยรางวัล พร้อมคำชมที่ลูกยอมทานยาค่ะ
ขั้นตอนการป้อนยา
1. คุณแม่ควรอ่านฉลากยา ให้แน่ใจว่าเป็นยาที่ต้องการป้อนให้ลูก ควรอ่านฉลากยาอย่างน้อย 3 ครั้ง คือขณะหยิบยาจากตู้ยา ก่อนรินยาและก่อนเก็บยาเข้าที่เดิม
2. เตรียมอุปกรณ์ตวงยาที่สะอาด รินยาและปรับปริมาตรยาตามที่กำหนดไว้ในฉลาก เพื่อความแม่นยำในการตวงยาด้วยกระบอกฉีดยาหรือหลอดหยดยา คุณแม่ควรยกขวดยาน้ำและอุปกรณ์ตวงยาขึ้นมาปรับปริมาตรในระดับสายตาค่ะ
3. ป้อนยาให้ลูกในจังหวะที่เหมาะสม ป้อนน้ำตามเพื่อล้างรสขมและคราบน้ำเชื่อมในปากลูก อย่าลืมรางวัลและคำชมเป็นกำลังใจให้ลูกนะคะ
4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ตวงยา ผึ่งให้แห้งสนิทก่อนเก็บเข้าที่ ถ้าคุณแม่ใช้กระบอกฉีดยา ควรแยกลูกสูบออกจากกระบอกฉีดยามาทำความสะอาดและผึ่งให้แห้งด้วย
5. เช็ดทำความสะอาดปากขวดยาน้ำก่อนปิดฝา เพื่อป้องกันน้ำเชื่อมตกผลึกจับที่ปากขวด จะทำให้เปิดฝาขวดได้ยาก
6. คุณแม่ควรเก็บยาไว้ในตู้ยาที่ลูกหยิบไม่ถึง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ถูกแสงแดดและความชื้น ไม่ร้อนเกิน 25-30 องศาเซลเซียส สำหรับยาปฏิชีวนะที่ผสมน้ำแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็น และเก็บไว้ได้ไม่เกิน 7-14 วันแล้วแต่ชนิดของยา ยาน้ำทั่วไปหลังจากเปิดใช้แล้ว ถ้ามีสี กลิ่น รส เปลี่ยนแปลงไป หรือเปิดทิ้งไว้เกินกว่า 3 เดือน คุณแม่ควรทิ้งยาไปค่ะ
7. ถ้าลูกอาเจียนยาออกมา หลังจากทานยาแล้วไม่เกิน 15 นาที คุณแม่ป้อนยาให้ใหม่ได้เลยค่ะ แต่ถ้าลูกอาเจียนหลังจากทานยาแล้ว 2-3 ชั่วโมง ยาทั่วไปจะถูกดูดซึมไปหมดแล้ว คุณแม่ไม่ต้องป้อนยาให้ใหม่นะคะ หรือถ้าลูกมีอาการอาเจียน ตลอดเวลาหลังทานยา คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
ข้อมูลจาก : http://www.bbearclub.com