การดูแลคุณแม่ลูกอ่อน

Last updated: 11 มี.ค. 2565  |  13607 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลคุณแม่ลูกอ่อน

การดูแลคุณแม่ลูกอ่อน 
 
นับแต่วินาทีแรกที่สมาชิกใหม่ของครอบครัวออกมาสู่โลกภายนอกคุณแม่ลูกอ่อนก็ได้เริ่มบทบาทของการเป็นแม่อีกขั้นหนึ่งแล้ว แต่อย่าห่วงลูกจนละเลยตัวเองเพราะสุขภาพของคุณแม่ก็สำคัญไม่แพ้สุขภาพลูก การคลอดมีผลต่อผู้เป็นแม่หลายอย่าง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจด้านร่างกายเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับไปสู่สภาวะเดิมก่อนตั้งครรภ์ส่วน ด้านจิตใจก็นับว่าเป็นเรื่องท้าทายความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต หากเข้าใจและใส่ใจดูแลจะช่วยลดปัญหาต่างๆ และสามารถต้อนรับสมาชิกใหม่ได้เต็มที่เพื่อชีวิตครอบครัวที่มีความสุข

เมื่อไรประจำเดือนจะมา
ส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนในระยะ 7 เดือนหลังคลอดแต่บางคน 2 เดือนครึ่ง ก็เริ่มมีแล้วผู้ที่ให้นมลูก
ประจำเดือนจะมาช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้ให้นมลูกหรือผู้ที่ลูกหย่านมเร็ว

มดลูก
การเปลี่ยนแปลง: หลังคลอดใหม่ๆ กล้ามเนื้อมดลูกจะยังไม่หดตัวลงทันทีและยังมีเศษของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งหนาตัวระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งเลือดด้วย แต่จะค่อยๆ ลดลงซึ่งจะกินเวลาประมาณ 10-12 วันจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือที่เรียกกันว่ามดลูกเข้าอู่และหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ก็จะมีขนาดปกติเท่ากับช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์
 

การดูแล: อย่าเพิ่งยกของหนักในช่วงเดือนแรก เริ่มบริหารร่างกายเบาๆ ได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกหลังคลอดเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระบังลม และผนังช่องคลอดแข็งแรงจะได้พยุงมดลูกกลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น

ช่องคลอดและฝีเย็บ
การเปลี่ยนแปลง: ตอนคลอดช่องคลอดจะขยายเพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาได้โดยมีการฉีกขาดบ้างเล็กน้อยสูติแพทย์มักจะตัดฝีเย็บเพื่อป้องกันการฉีกขาดมาก เมื่อลูกออกมาแล้วจะเย็บซ่อมแซมให้ เรียบร้อยด้วยไหมสีดำหรือ สีขาว จากนั้น 5-6 วันจึงตัดไหมให้เว้นแต่จะใช้ไหมละลาย
การดูแล: แผลในช่องคลอดอาจจะบวมเล็กน้อยทำให้นั่งลำบาก หมอจะให้ยาแก้ปวด อาการจะทุเลาใน 3-4 วัน
จริงหรือไม่ หลังคลอดใหม่ๆ ห้ามลุกขึ้นยืนเดินมาก  เพราะจะทำให้มดลูกเคลื่อนต่ำแก่ตัวไปจะปวดศีรษะปวดหลังเป็นภูมิปัญญาไทยที่ฉลาดให้คุณแม่หลังคลอดได้ดูแลสุขภาพตัวเอง เนื่องจากสมัยก่อนหมอตำแยไม่ได้เย็บช่องคลอดที่ฉีกขาดเพราะการคลอด จึงให้คุณแม่ต้องอยู่ไฟประมาณ 10 วันโดยให้นอนบนกระดานแผ่นเดียวจะได้หนีบขาสองข้างไว้เพื่อให้แผลติดกันได้พร้อมผิงไฟให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นแต่ปัจจุบันแพทย์ตัดและเย็บแผลช่องคลอดให้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนอนนิ่งๆ นานๆ เพราะจะทำให้น้ำคาวปลาไหลไม่สะดวกทำให้มีโอกาสติดเชื้ออักเสบในโพรงมดลูก

ระบบขับถ่าย
การเปลี่ยนแปลง: คุณแม่ที่เพิ่งคลอดมักจะไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่กล้าเบ่งอุจจาระ ไม่อยากปัสสาวะเพราะกลัวเจ็บแผลหลายคนจึงท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวาร การกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และมดลูกลอยตัวสูงไม่หดตัว อันเป็นสาเหตุของการตกเลือดหลังคลอดได้มาก
การดูแล:  พยายามกินอาหารที่มีกากนิ่มเช่น ข้าวกล้อง ส้ม กล้วย มะละกอและ ดื่มน้ำมากๆ ถ้าให้นมลูกไม่ควรกินยาระบายหากเป็นริดสีดวงควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะให้ยาลดการบวมอักเสบโดยให้ยาทา หรือยาเหน็บเวลานั่งให้นมลูกควรหาเบาะรองนั่งนุ่มๆ หรือจะใช้ห่วงยางเล่นน้ำเป่าลมให้เต็มแล้วรองนั่งในขณะให้นมลูกจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้    

ที่มา: นิตยสาร ขวัญเรือน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้