ไข้ออกผื่นในเด็กแรกเกิด

Last updated: 5 มี.ค. 2564  |  59522 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไข้ออกผื่นในเด็กแรกเกิด

โรคไข้ออกผื่นในเด็ก  
 
สาเหตุของโรคไข้ออกผื่นในเด็ก
ไข้ออกผื่น เป็นโรคที่เกิดได้บ่อยในเด็กเล็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อแบคทีเรีย แพ้ยา และการอักเสบของเส้นเลือดภายในร่างกาย
 
ไข้ออกผื่นในโรคชนิดต่างๆ
อาการไข้ออกผื่นคือ มีไข้และออกผื่น ไม่ว่าจะมีไข้ก่อนถึงเกิดอาการออกผื่น หรือออกผื่นก่อนถึงมีไข้ตามมา ก็ถือว่าเป็นโรคไข้ออกผื่นเช่นเดียวกัน  
  • ไข้ออกผื่นที่พบในเชื้อหวัด มักจะมีผื่นเม็ดเล็กๆ ขึ้นตามร่างกาย รักษาได้โดยการประคับประคองตามอาการ เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงมากนัก
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคส่าไข้ หัดกุหลาบ หรือไข้ขน มีอาการคือ ไข้สูงฉับพลัน ไม่มีอาการซึม ท้องเสียเล็กน้อย ออกผื่นหลังจากไข้ลดบริเวณหลังหู ใบหน้า อก หลัง แขน ขา รักษาโดยการหมั่นเช็ดตัว ให้ยาลดไข้สม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภาวะชักในเด็ก
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคอีดำอีแดง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางน้ำมูก ไอ จาม หรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน อาการคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ปากแดง มีฝ้าขาวที่ลิ้นและแดงเป็นจุดๆ ออกผื่นบริเวณอกและหลังคล้ายกระดาษทรายหยาบ รักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย โดยต้องรับยาให้ครบ 10 วัน
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาการคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อย เกิดตุ่มน้ำใสๆ ทั่วร่างกาย รักษาตามอาการ โดยควรดื่มน้ำมากๆ สามารถรับวัคซีนป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการผื่นขึ้นตามร่างกายคล้ายลมพิษหลังจากไข้ลด การรักษาต้องประเมินตามช่วงอายุของเด็ก โดยแพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย 
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก มีอาการคือ ไข้สูง อาเจียน อ่อนเพลีย ออกผื่นหลังจากมีไข้แล้วประมาณ 5 วัน รักษาด้วยวิธีหมั่นเช็ดตัว เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชักในเด็กเล็ก ห้ามให้ยาลดไข้สูงโดยเด็ดขาด
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคมือเท้าปาก ระบาดมากในช่วงฤดูฝน อาการคือ มีไข้ เจ็บคอ กินได้น้อยลง ซึม มีตุ่มน้ำใสขึ้นในคอ มือ เท้า เข่า รอบทวารหนัก รักษาตามอาการโดยการเช็ดตัว ให้ยาลดไข้ หรือให้ยาชาลดอาการเจ็บคอก่อนกินอาหาร
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคหัด มีอาการค่อนข้างรุนแรงคือ มีไข้สูง ตาแดง มีน้ำมูก ไอ บางรายมีอาการปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือหายใจติดขัดตามมา ออกผื่นแดงทั่วร่างกายคล้ายกับอาการแพ้ยา หลังจากผื่นหายจะทิ้งรอยคล้ำไว้ ติดต่อได้ทางละอองฝอย รักษาด้วยการประคับประคอง เช่น ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมในเด็กวัย 1 ปี และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อมีอายุครบ 2 ปีครึ่ง
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากโรคฟีฟธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบน้อยในคนไทย มีอาการไข้ต่ำๆ ออกผื่นบริเวณแก้ม แขนและขา ลักษณะคล้ายร่างแห เป็นๆ หายๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ รักษาตามอาการ ไม่ร้ายแรง
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดหลังฉีดวัคซีน มักพบในเด็กหลังฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด และวัคซีนอีสุกอีใส โดยมีอาการไข้ขึ้นสูง แต่ไม่ซึม กินอาหารได้ปกติ มีผื่นออกประมาณ 2-3 วัน แล้วหายเอง
  • ไข้ออกผื่นที่เกิดจากการแพ้ยา มีอาการผื่นแดงออกหลังรับยา บางรายอาการรุนแรงคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นออกตามตัวและใบหน้า ตาบวม ปัสสาวะติดขัด แสบ หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดถึงขั้นเสียชีวิตได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

ข้อควรระวังเมื่อลูกเป็นไข้ออกผื่น  

ไข้ออกผื่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นในเด็กเล็กได้จากอุณหภูมิในร่างกาย ควรวัดไข้สม่ำเสมอ หมั่นเช็ดตัว กินยาลดไข้ตามเวลา หากมีไข้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรป้อนยาลดไข้สูงเอง

วิธีการป้องกันไข้ออกผื่น

  • รักษาสุขภาพของลูกน้อยให้แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด หรือสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า
  • หมั่นล้างมือให้สะอาด
  • ใส่หน้ากากอนามัยให้ลูกที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน
  • รักษาสุขอนามัยให้กับตนเองและลูกน้อยอยู่เสมอ

    .........................................................................................................

เรียบเรียงเป็นบทความจาก Youtube คุณหมอ ปัณฑิตา หมอเด็กภูเก็ต Dr Panthita Phuket Pediatrician

ทางร้าน พุงกลม ขอขอบพระคุณมา ณ. ที่นี้ด้วยค่ะ

Source : https://www.youtube.com/watch?v=mLJwuFtP7wA

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้