Last updated: 14 มี.ค. 2561 | 26242 จำนวนผู้เข้าชม |
5 วิธีการดูแลก้นน้อยๆ ของหนู
1. อุปกรณ์
สำลี : ควรมีทั้งแบบก้อนและแบบก้าน เพื่อความสะดวกต่อการเลือกใช้ทำความสะอาด
ปิโตรเลียมเจล, เบบี้ออยล์ : ป้องกันเรื่องผื่น เติมความชุ่มชื่นให้ผิวลูกน้อย
ผ้าหรือเบาะรอง : รองรับก้น ป้องกันเชื้อโรค เพื่อสุขอนามัยที่ดี
กะละมังใบเล็ก : สำหรับชำระล้าง ทำความสะอาดเรื่องก้น
ผ้าอ้อมสาลู : ช่วยระบายอากาศ ให้ก้นน้อยๆ ปลอดการอับชื้น
ทิชชูเปียกสำเร็จรูป : เหมาะกับการพกพา ทำความสะอาดขณะอยู่นอกบ้าน
2. เช็ดก้น
- ก่อนเช็ดก้น ควรมีผ้าหรือเบาะรองรับก้น เพื่อป้องกันผิวของลูกสัมผัสกับ ฝุ่นละออง เชื้อโรคต่างๆ ที่อาจมองไม่เห็น
- สำลี ชุบน้ำบีบพอหมาด เช็ดตั้งแต่ด้านหน้าลงมาด้านหลัง โดยเฉพาะการเช็ดก้นเด็กผู้หญิง ห้ามเช็ดย้อนกลับขึ้นมาเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคอาจเข้าสู่ช่องคลอดได้
- ถ้าคุณแม่ใช้ผ้าทำความสะอาดก้น ควรเช็ดเบาๆ อย่างนุ่มนวล เลือกชนิดผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิวลูกได้ง่าย
3. ล้างก้น
- ถ้าลูกอึ ควรล้างด้วยน้ำไหลผ่าน 1 ครั้งก่อน จากนั้นล้างด้วยสบู่อ่อนๆ แล้วล้างออก 2-3 ครั้งให้สะอาด
- บริเวณขาหนีบ, ร่องก้น ต้องดูแล ทำความสะอาดให้ถึง เพื่อปลอดกับเรื่องเชื้อโรค
- ระหว่างล้างก้น คุณแม่อาจพูดคุย ร้องเพลงให้ลูกฟังก็ได้นะคะ จะได้สะกดความสนใจ ไม่ให้ลูกหงุดหงิด งอแง
- หลังจากล้างก้นเสร็จ ซับก้นให้แห้ง ก่อนใส่ผ้าอ้อมหรือกางเกง
4. เรื่องต้องระวัง
- ผื่นผ้าอ้อม เกิดจากความอับชื้น การระคายเคืองจากการสวมใส่ผ้าอ้อม บริเวณสิ่งที่มาสัมผัสผิวของลูก เช่น ก้น ขาหนีบ ดังนั้น คุณแม่ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม และทำความสะอาดให้ทั่วถึงหลังจากลูกขับถ่ายทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน
- ท่อปัสสาวะอักเสบ เกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ที่บริเวณทวารหนัก มีการเคลื่อนตัวเข้าไปในท่อทางเดินปัสสาวะและเข้าไปสู่กระเพาะปัสสาวะทำให้ เกิดการอักเสบตามมา ในเด็กผู้หญิงมีโอกาสเกิดปัญหาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้ง่ายกว่าเด็กผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะของเด็กผู้หญิงจะสั้นกว่า เด็กผู้ชาย ดังนั้น สิ่งสำคัญในการป้องกันเรื่องนี้ คือเรื่องความสะอาด และความอับชื้นที่เกิดจากสวมใส่ผ้าอ้อมค่ะ
5. เคล็ดลับดูแลก้นน้อยๆ
- ผ้าอ้อมที่เปื้อนอึลูก ก่อนซักอาจล้างผ้าอ้อมด้วยน้ำเปล่า 1 ครั้งก่อน เพื่อให้เศษอุจจาระหลุดออก
- หากลูกมีผิวแพ้ง่าย คุณแม่กลัวปัญหาเรื่องผื่น อาจใช้ปิโตรเลียมเจล ทาก้นลูกน้อยก่อนสวมใส่ผ้าอ้อม เพื่อลดการเสียดสี ก้นน้อยๆ ของลูกแม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่มีความสำคัญ ต้อง เอาใจใส่ให้มาก ไม่ให้อับชื้น เจอปัญหาเรื่องผิวค่ะ
ขอขอบคุณ : นิตยสาร Mother&Care ผู้สนับสนุนเนื้อหา
26 ธ.ค. 2554
22 ม.ค. 2567
22 ก.พ. 2567
3 เม.ย 2567