เช็คสัญญาณลูกน้อย จากอาการไข้

Last updated: 14 มี.ค. 2561  |  18341 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เช็คสัญญาณลูกน้อย จากอาการไข้

เช็คสัญญาณลูกน้อย จากอาการไข้

"ไข้สูง-ไข้ต่ำ"

ไข้ คือการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นไข้สูง ซึ่งอาจทำให้เด็กเล็กเกิดอาการชักได้ ส่วนอุณหภูมิระหว่าง 37.5-38.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นไข้ต่ำ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ปรอทวัดไข้ เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้ และใช้ในการติดตามอาการ ไม่ควรใช้เพียงมือสัมผัสเพื่อบอกว่าตัวรุม ๆ หรือตัวร้อนจัดเท่านั้น การที่เด็กมีอาการไข้หรือมีไข้สูงเป็นบางเวลาโดยเฉพาะตอนกลางคืน มักเกิดจากโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรง

นอกจากอาการไข้แล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่ควรนำมาใช้พิจารณาว่า เด็กป่วยรุนแรงจากไข้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอาการซึม งอแง กินได้น้อยลง โดยเฉพาะหากดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามเวลาเด็กมีไข้สูง อาจดูซึมหรือร้องกวนได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเช็ดตัวลดไข้หรือให้กินยาลดไข้ ซึ่งเมื่อไข้ลดลงและเด็กกลับมาดูร่าเริงดูสบายขึ้น มักช่วยสนับสนุนว่าอาการป่วยของเด็กไม่รุนแรง

สาเหตุของไข้ในเด็กเล็ก

ไข้ในเด็กเล็กส่วนใหญ่นั้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาการมักหายไปได้เอง และไม่ค่อยมีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการชักเนื่องจากไข้สูง เชื้อไวรัสแต่ละตัว ก็มีอาการให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตควบคู่กับอาการไข้ เพื่อการตัดสินใจในการดูแลลกน้อยต่อไปได้

โรคส่าไข้ ทำให้เด็กมีผื่นที่ผิวหนังตามมาเมื่อไข้ลดลง

โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ทำให้เด็กมีอาการหวัดร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดอาการไอและหายใจหอบตามมา

เชื้อไวรัสเดงกี ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ทำให้เด็กมีอาการอาเจียนและมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง

เชื้อไวรัสโรต้า ทำให้เด็กเกิดอาการอาเจียน และถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วย

นอกจากนั้นอาการไข้ยังมาจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน แม้จะพบได้ไม่บ่อยเท่ากับโรคติดเชื้อไวรัส แต่มักทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่า และต้องการการรักษาด้วย ยาต้านจุลชีพ (หรือที่บางคนเรียกว่ายาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อ) โรคในกลุ่มนี้ได้แก่

โรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งเด็กจะมีอาการร้องกวนจากอาการเจ็บหู

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งเด็กมักมีอาการไข้สูงอย่างเดียว โดยอาจวินิจฉัยโรคไม่ได้หากไม่ได้ส่งตรวจปัสสาวะ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเด็กจะมีอาการซึมร่วมด้วยและอาจมีอาการชักครับ

ลูกเล็กมีไข้จัดการอย่างไร

เด็กเล็กวัย 5 ขวบปีแรกที่มีไข้สูง โดยเฉพาะหากเป็นไข้ในวันแรกหรือวันที่สอง มีความเสี่ยงต่ออาการชักเนื่องจากไข้สูงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยการเช็ดตัวลดไข้และให้กินยาลดไข้ แต่การเช็ดตัวลดไข้สามารถทำให้ไข้ลดลงได้เร็วกว่าการใช้ยาลดไข้ ซึ่งมักต้องใช้เวลานาน ½ -1 ชั่วโมงกว่าจะออกฤทธิ์ หากเด็กมีไข้สูงไม่ควรให้ยาลดไข้อย่างเดียว ต้องเช็ดตัวลดไข้ควบคู่ไปด้วยเสมอ

การเช็ดตัวลดไข้ควรถอดเสื้อผ้าของเด็กออก ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ หน้าอก และหลังอย่าลืมวัดไข้ก่อนและหลังเช็ดตัวทุกครั้ง ซึ่งหลังเช็ดตัวแล้ว อุณหภูมิร่างกายจะลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส และควรเช็ดตัวซ้ำอีกหากอุณหภูมิยังสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

ยาลดไข้สำหรับเด็ก

สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ต้องระมัดระวังในการใช้ยาลดไข้ เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ ควรใช้การเช็ดตัวลดไข้เป็นหลัก และให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงในเด็ก มีให้เลือกไข้ 3 ชนิด คือ ชนิดหยดสำหรับเด็กเล็ก ๆ และเด็กที่กินยายาก (ขนาด 1 ช้อนชา หรือ 5 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กก.) และชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็กโต (ขนาด 1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัว 20 กก.) แนะนำให้ใช้ทุก 4-6 ชั่วโมงเวลามีไข้

สำหรับยาลดไข้ไอบูโปรเฟนที่หลายคนเรียกว่า ยาลดไข้สูง มักช่วยให้ลดไข้ได้ดีกว่ายาพาราเซตามอล แนะนำให้ใช้เป็นยาเสริมเพิ่มเติม เมื่อใช้ยาพาราเซตามอลแล้วไข้ไม่ลดลงหรือไข้ขึ้นอีก แต่ยังไม่ถึงเวลาจะให้ยาพาราเซตามอลในมื้อถัดไป

ไข้ในเด็กเล็กป้องกันได้

ไข้ในเด็กเกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หากเด็กไม่ติดเชื้อจะมีโอกาสในการเป็นไข้น้อยมาก การป้องกันทำได้โดยการจัดสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ให้เหมาะสม การสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค

เด็กเล็กมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ เนื่องจากร่างกายยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สูงเพียงพอ ในการป้องกันโรค คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรหมั่นล้างมือ ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูกเวลาพาเด็กไปในที่ชุมชน หรือเวลาเจ็บป่วย

อีกทั้งนมแม่เป็นแหล่งอาหารที่มีภูมิคุ้มกันในการป้องกัน ให้เด็กเจ็บป่วยลดลง วัคซีนช่วยให้ร่างกายของเด็กสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มาก เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางระบบหายใจในเด็กส่วนวัคซีนอื่น ๆ ที่อาจให้ประโยชน์เพิ่มเติม ได้แก่ วัคซีนฮิบ วัคซีนไอพีดี วัคซีนไอกรน และวัคซีนโรต้าครับ

การรู้ข้อมูลเพื่อสังเกต และจัดการกับอาการไข้ของลูกแต่เนิ่น ๆ ก็ช่วยป้องกันไม่ให้อาการนั้นลุกลามไปกว่านี้ ดูแลได้อย่างทันท่วงที

ขอขอบคุณข้อมูลจาก MODERNMOM

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้