รับมือโรคยอดฮิต กรดไหลย้อนในเด็ก

Last updated: 15 ธ.ค. 2566  |  12112 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กลดไหลย้อน ในเด็ก อาการ

รับมือโรคยอดฮิต กรดไหลย้อนในเด็ก

อาการในเด็ก

“ภาวะกรดไหลย้อน” คือ อาหารหรือน้ำย่อยย้อนท้นขึ้นไปบริเวณหลอดอาหาร เกิดอาการแหวะนม ซึ่งพบบ่อยในทารก เมื่อลูกโตขึ้นประมาณ 1 ปีขึ้นไป อาการจะลดลงแล้วหายไปได้เอง

“โรคกรดไหลย้อน” เกิดจากภาวะกรดไหลย้อนที่รุนแรงจนเกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น ความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ครืดคราด หอบหืด ไซนัสอักเสบเรื้อรัง แสบบริเวณหลอดอาหาร ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ บางรายอาการรุนแรงจนหยุดหายใจได้

สาเหตุการเกิดโรค

ในทารก พบบ่อยช่วงอายุ 3-4 เดือน โดยเกิดจากหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง เวลาลูกดูดนม นมจึงไหลย้อนจากกระเพาะขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร อาการมากน้อยแตกต่างกันไป และหายได้เองเมื่อโตขึ้นที่อายุเฉลี่ย 1 ปี ขึ้นไป

ในเด็กโต มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการบีบตัวของกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่น อาหารมัน อาหารทอด ช็อกโกแลต เป็นต้น

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ลูกหยุดโรค

ในทารก คุณแม่ควรจับลูกนั่งหลังตรง และจับเรอทุกครั้งหลังกินนมเสร็จประมาณ 10-15 นาที จากนั้นให้ลูกนอนยกหัวสูง 20-30 องศา ประมาณ 20-30 นาที ก่อนนอนราบ ไม่ควรนอนราบทันทีหลังกินนมเสร็จใหม่ๆ

ในเด็กโต คุณแม่ควรจำกัดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ โดยในลูกกินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่กินบ่อยๆ แทนการกินครั้งเดียวในปริมาณมาก เมื่อกินเสร็จควรนั่งทำกิจกรรมอื่นๆ หรือเดินไปมาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แทนการนอนราบในทันที เพื่อให้อาหารย่อยก่อน



นวดกระเพาะลดภาวะกรดไหลย้อน

ควรทำหลังจากลูกกินนมเสร็จ 2 ชั่วโมง โดยจับลูกนอนหงาย ทาออยบริเวณท้อง วางมือไว้บนหน้าท้องของลูก แล้วนวดวนตามเข็มนาฬิกาอย่างเบามือประมาณ 3-4 นาที จากนั้น นวดวนทวนเข็มนาฬิกาอีกประมาณ 3-4 นาที แล้วนวดแขนและขาลูกโดยการรูดมือขึ้นลงโดยออกแรงมากกว่าตรงท้องเล็กน้อย คุณแม่สามารถนวดให้ลูกน้อยได้ 2-3 ครั้งต่อวัน

คุณแม่สามารถช่วยลูกออกกำลังกายเป็นประจำได้ โดยใช้ท่านอนหงาย จับลูกยกขาขึ้นแล้วปั่นจักรยานกลางอากาศ ซึ่งจะช่วยทั้งเรื่องลดภาวะกรดไหลย้อน และระบบขับถ่ายได้ด้วย 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้