เก็บยาลูกอย่างไรให้ถูกวิธี

Last updated: 29 มิ.ย. 2564  |  41269 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เก็บยาลูกให้ถูกวิธี

เก็บยาลูกอย่างไรให้ถูกวิธี

1. ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อ มีลักษณะเป็นผงบรรจุขวดแก้ว

การเก็บรักษา : เวลาใช้งานให้เติมน้ำต้มสุกอุณหภูมิห้องถึงขีดที่กำหนด โดยจะเก็บได้นาน 7 วัน ในอุณหภูมิห้องประมาณ 25 องศา หรือเก็บได้นาน 14 วันในตู้เย็น แต่สำหรับเมืองร้อนอย่างประเทศไทยแนะนำให้เก็บรักษายาในตู้เย็น  

ยาหมดอายุ : ผงแป้งมีลักษณะจับตัวกันเป็นก้อน  

2. ยาน้ำทั่วไป เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้

การเก็บรักษา : หากยังไม่เปิดขวดสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้องประมาณ 25 องศาได้ หลังจากเปิดใช้แล้วแนะนำให้เก็บในตู้เย็นเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน หรือนับจากวันที่เปิดใช้แล้ว ไม่ควรนานเกิน 1 ใน 4 ของวันหมดอายุ

ยาหมดอายุ : มีลักษณะสีขุ่น เป็นตะกอน มีรสขม กลิ่นเหม็นเปรี้ยว

3.ยาหยอดตา มักจะอยู่ในรูปแบบของขวดใส

การเก็บรักษา : หากยังไม่เปิดขวดสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้องประมาณ 25 องศา ได้ หากเปิดใช้แล้ว แนะนำให้เก็บในตู้เย็นเพื่อไม่ให้ยาติดเชื้อแบคทีเรียจนเสื่อมสภาพ โดยยาประเภทนี้ห้ามโดนแดด และมีอายุการใช้งานหลังจากเปิดใช้งานแล้ว 1 เดือน ยาเว้นยาหยอดบางประเภท เช่น น้ำตาเทียม หลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุการใช้งานเพียง 24 ชั่วโมง

ยาหมดอายุ : มีลักษณะขุ่น เมื่อใช้ยาจะเกิดอาการแสบตา  

4.ยาที่มีส่วนผสมของขี้ผึ้ง ยาที่มีส่วนผสมของขี้ผึ้ง เช่น ยาที่ใช้เฉพาะจุดอย่างยาป้ายตา ยาป้ายปาก

การเก็บรักษา : หากเปิดใช้แล้วแนะนำให้เก็บในตู้เย็น โดยยาจะมีอายุประมาณ 30 วัน ส่วนยาประเภทใช้ภายนอก เช่น ครีม ขี้ผึ้ง ยาทาผื่นคัน หลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุการใช้งานนาน 6 เดือน

ยาหมดอายุ : มีลักษณะไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน บีบออกมาเป็นน้ำเหลวแล้วตามด้วยครีม เป็นต้น

5.ยาพ่นจมูก แบบมีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม และยาหยอดลดบวมในจมูกที่ไม่มีสเตียรอยด์

การเก็บรักษา : ยาพ่นจมูกแบบมีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสมไม่ควรเก็บในตู้เย็นแม้จะเปิดใช้แล้วก็ตาม อุณหภูมิภายนอกที่เหมาะสมกับการเก็บยาประเภทนี้ คือ 15-30 องศา หลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 เดือน ส่วนยาหยอดลดบวมในจมูกที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น  

ยาหมดอายุ : มีลักษณะสีเหลือง เป็นตะกอนขุ่น  

6. ยาเม็ดป้อน มีลักษณะเป็นผงแป้งอัดเม็ด บรรจุในซองซิป หรือแผงฟอยล์

การเก็บรักษา : เมื่อใช้งานควรเก็บใส่ซองในอุณหภูมิห้องปกติ โดยหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องครัว หรือห้องน้ำ

ยาหมดอายุ : มีสีเปลี่ยนไป ขึ้นเป็นจุดเชื้อรา เม็ดแตกร่วนเป็นผง สามารถดูวันหมดอายุได้ที่ฉลากยา

7.ยาเม็ดแคปซูล มีทั้งแบบเปลือกแข็งและนิ่ม

การเก็บรักษา : ควรหลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในที่ร้อนจัดเพราะเปลือกแคปซูลอาจจะละลายได้ อุณหภูมิห้องที่เหมาะสมกับการเก็บยาประเภทนี้คือ 15-30 องศา หากในห้องที่เก็บมีความชื้น แนะนำให้เก็บยาไว้ในกล่องที่ใส่สารดูดความชื้นไว้ด้วย เพราะแคปซูลมีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดี ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

ยาหมดอายุ : มีลักษณะบวม สีของแคปซูลละลายเยิ้ม อาจจะมีจุดเชื้อราสีขาวขึ้นบริเวณผิวยา ผงยาภายในแคปซูลจับตัวเป็นก้อนและเปลี่ยนสี สามารถดูวันหมดอายุได้ที่ฉลากยา


เรียบเรียงเป็นบทความจาก Youtube คุณหมอ ปัณฑิตา หมอเด็กภูเก็ต Dr Panthita Phuket Pediatrician

ทางร้าน พุงกลม ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

Source : การเก็บรักษายา อายุของยา วิธีการป้อนยา ในเด็ก Storage and Giving Medicine to Child

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้